สงครามสองสเปน (ค.ศ. 1936-1939) ของ ประวัติศาสตร์สเปน

ดูบทความหลักที่: สงครามกลางเมืองสเปน

ในคริสต์ทศวรรษ 1930 การเมืองสเปนแตกแยกออกเป็น 2 ขั้วอำนาจคือฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายได้แก่พรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ซึ่งต้องการให้มีการต่อสู้ระหว่างชนชั้น การปฏิรูปที่ดิน การปกครองตนเองของแต่ละแคว้น รวมทั้งการลดอำนาจศาสนจักรและกษัตริย์ลง ส่วนฝ่ายขวาซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดคือพรรคเซดาและกลุ่มคาทอลิกมีความเห็นคัดค้านกับประเด็นดังกล่าว ในปี ค.ศ. 1936 พรรคฝ่ายซ้ายทั้งหมดรวมกลุ่มกันเป็นพรรคแนวหน้าประชาชน[81] (Popular Front; Frente Popular) และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยเฉพาะในเขตเมืองและย่านอุตสาหกรรม[82]

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมซึ่งเป็นฝ่ายกลาง-ซ้ายชุดนี้ก็ยังถูกบ่อนทำลายจากกลุ่มที่ต้องการการปฏิวัติ เช่น สมาพันธ์แรงงานแห่งชาติ (CNT) และสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรีย (FAI) และจากกลุ่มขวาจัดที่ต่อต้านประชาธิปไตย เช่น พวกฟาลังเคและพวกการ์ลิสต์ ความรุนแรงทางการเมืองอย่างที่เคยเกิดในปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งในเมืองหลวงและท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมีการต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนในการประท้วงหยุดงาน ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกินเริ่มเข้ายึดที่ดินจากนายทุนเจ้าของที่[83] บุคคลทางศาสนาถูกสังหาร โบสถ์และคอนแวนต์ถูกเผาทำลายไปหลายแห่ง กองทหารอาสาสมัครฝ่ายขวา (เช่น ฟาลังเค) และมือปืนที่ถูกว่าจ้างมาได้ลอบสังหารนักปฏิบัติการหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่ได้สร้างความสมานฉันท์หรือความเชื่อใจกันระหว่างกลุ่มการเมืองทั้งหลายอันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเกิดสันติภาพ พวกฝ่ายขวาและบุคคลระดับสูงในกองทัพเริ่มวางแผนก่อการยึดอำนาจ[84] และเมื่อโคเซ กัลโบ-โซเตโล ผู้นำนักการเมืองฝ่ายขวาถูกตำรวจของสาธารณรัฐยิงเสียชีวิต[85][86] ฝ่ายผู้ก่อการ (เรียกว่า "ฝ่ายชาตินิยม") จึงถือเอาเหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติเพื่อล้มรัฐบาล[85][87] เป็นผลให้ความขัดแย้งภายในชาติกลายสภาพเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 พลเอกฟรันซิสโก ฟรังโกนำกองทัพอาณานิคมในโมร็อกโกจากเมืองเมลียาและบุกเข้าโจมตีแผ่นดินใหญ่จากภาคใต้ ในขณะที่กำลังอีกด้านหนึ่งภายใต้การนำของพลเอกซังคูร์โคก็เคลื่อนพลจากแคว้นนาวาร์ทางภาคเหนือลงมาทางใต้ มีการระดมพลขึ้นทุกแห่งโดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้ายึดหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายรัฐบาล (หรือ "ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม") ในตอนแรกการบุกเข้าโจมตีของฟรังโกนั้นมีเป้าหมายว่าจะยึดอำนาจให้ได้ในทันที แต่การต้านกำลังฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมในเมืองใหญ่เช่น มาดริด บาร์เซโลนา บาเลนเซีย และบิลบาโอ ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงส่อเค้าให้เห็นว่าสเปนจะต้องผจญกับสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อต่อไป ในไม่ช้า พื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายชาตินิยมซึ่งมีกองทหารประจำการในแอฟริกาเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงนั้น[88] นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากต่างชาติอีกด้วย กล่าวคือ ฝ่ายชาตินิยมได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนีนาซี อิตาลีฟาสซิสต์ และโปรตุเกส ส่วนฝ่ายรัฐบาล (สาธารณรัฐนิยม) ได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและกองกำลังอาสาคอมมิวนิสต์ซึ่งรวมตัวกันในชื่อว่า กองพลน้อยนานาชาติ (International Brigades)

ฟรังโกประกาศการยุติสงครามที่เมืองบูร์โกสเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1939[89]

การล้อมป้อมอัลกาซาร์ที่เมืองโตเลโดในช่วงต้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งของสงคราม ฝ่ายชาตินิยมได้รับชัยชนะหลังจากล้อมอยู่เป็นเวลานาน ส่วนฝ่ายสาธารณรัฐนิยมยังสามารถยึดกรุงมาดริดเป็นฐานที่มั่นไว้ได้แม้ฝ่ายชาตินิยมจะเข้าโจมตีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 นอกจากนี้ยังสามารถยืนหยัดต้านการรุกเข้าเมืองหลวงไว้ได้ที่ริมแม่น้ำคารามา[90] และเมืองกวาดาลาคารา[90] เมื่อปี ค.ศ. 1937 แต่หลังจากนั้นฝ่ายชาตินิยมเริ่มขยายดินแดนในความควบคุมของตนได้และรุกเข้าไปทางภาคตะวันออกเพื่อตัดขาดกรุงมาดริดออกจากเมืองอื่น ๆ

ส่วนภาคเหนือรวมทั้งแคว้นประเทศบาสก์ถูกยึดครองได้ในปลายปี ค.ศ. 1937[91] และแนวรบทางแคว้นอารากอนก็ถูกตีแตกหลังจากนั้นไม่นานนัก[92] เป็นไปได้ว่าการทิ้งระเบิดที่เมืองเกร์นีกา (Bombing of Guernica) ในแคว้นประเทศบาสก์โดยกองทัพอากาศของเยอรมนี (ลุฟท์วัฟเฟอ) จะเป็นเหตุการณ์ที่อื้อฉาวที่สุดของสงครามและเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพเขียนของปีกัสโซ ยุทธการที่แม่น้ำเอโบรระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่จะพลิกโฉมหน้าของสงคราม เมื่อประสบความพ่ายแพ้ในการรบครั้งนี้และเมืองบาร์เซโลนาซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญของตนยังถูกฝ่ายชาตินิยมยึดได้อีกเมื่อต้นปี ค.ศ. 1939[93][94] ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสงครามใกล้จะสิ้นสุดแล้ว แนวรบที่เหลือของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมทยอยแตกลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งทางกรุงมาดริดประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1939

สงครามซึ่งคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนระหว่าง 500,000-1,000,000 คน[95] ครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยการล้มล้างสาธารณรัฐสเปนและการขึ้นสู่อำนาจของฟรังโกในฐานะผู้เผด็จการของชาติ เมื่อสงครามสิ้นสุด ฟรังโกได้ควบรวมพรรคการเมืองฝ่ายขวาทั้งหมดเข้าเป็นพรรคเดียวคือพรรคฟาลังเค[96] รวมทั้งจัดโครงสร้างภายในพรรคใหม่ ให้ยุบเลิกพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย (หรือฝ่ายสาธารณรัฐนิยม) และสหภาพการค้าทั้งหมดลง นอกจากนี้ ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมถูกสั่งจำคุกเป็นแสนคน[97] และอย่างน้อยประมาณ 30,000[98]-35,000 คน[99] ถูกประหารชีวิตในช่วงปี ค.ศ. 1939-1953[100] ที่เหลือถูกบังคับให้ทำงานสาธารณประโยชน์[101] หรือไม่ก็ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศตลอดสมัยของฟรังโก

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์สเปน http://www.ucalgary.ca/applied_history/tutor/eurvo... http://www.bartleby.com/65/ch/Charles5HRE.html http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/558200/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/590747/T... http://www.clarin.com/diario/2003/03/29/um/m-53749... http://www.generalisimofranco.com/GC/batallas/006.... http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-...